เทคนิคเล็กๆน้อยๆ สำหรับนักดนตรีรุ่นใหม่ไฟแรง 10 ข้อ สู่ความสำเร็จ ในการออดิชั่น
1. ตรวจเช็คดูร้านที่เราจะออให้แน่นอนก่อน ว่าเค้าต้องการเพลงสไตล์ไหน รูปแบบไหนและศึกษาข้อมูลคร่าวๆ ของร้าน เช่น โปรโมชั่นเหล้า กิจกรรมพิเศษ เวลาของดนตรีสด หรืออื่นๆเท่าที่เราจะหาได้
2. นัดวันออ และเวลา อย่างเป็นกิจจะลักษณะ และไปตรงเวลา (เวลาออดิชั่นโดยทั่วไปสำหรับงานโฟล์คและแบนด์จะอยู่ที่ ครึ่งชั่วโมง หรือโดยเฉลี่ยประมาณ 5-7 เพลง) อย่าลืมแต่งตัวสุภาพด้วย เพราะเจ้าของร้านบางร้านเค้าซีเรียส รวมไปถึงการดูดบุหรี่ หรือกินเหล้าในร้านหากเราไปออดิชั่นครั้งแรกและไม่ได้สนิทเป็นการส่วนตัว อย่าให้เค้าเห็นภาพพวกนั้นจะเป็นการดีที่สุด
3. เลือกเพลงให้กว้างและครอบคลุม โดยมีเกณฑ์เลือกคร่าวๆ คือ (เวลาออดิชั่น ควรเล่นประมาณ 5-7 เพลง พอ)
3.1.เพลงชาติยอดนิยม 2 เพลง
3.2.เพลงใหม่แกะกล่อง 1 เพลง
3.3.เพลงเก่านำมา cover สวยๆ แบบเป็นสไตล์เรา เร็ว 1 เพลง ช้า 1 เพลง
3.4.เพลงสากล 1 เพลง
3.5.สุดท้ายที่ขาดไม่ได้ เพลงที่เราถนัดที่สุด 1 เพลง
(เรื่องนี้เป็นศิลปะที่ขาดไม่ได้ ต้องคำนึงถึงการต่อเพลงที่แนบเนียนด้วย ว่าเราจะส่งเพลงไหนไปไหน)
4. หากเราไม่ชัวร์เรื่องการปรับมิกซ์และเครื่องเสียงต่างๆ ให้ไปก่อนเวลา นานหน่อย และใช้เวลาเท่าที่ทำได้ในการเซทเครื่อง ตั้งสาย แล้วก็ตรวจดูความเรียบร้อย เพราะนี่คือสิ่งสำคัญที่สุด ให้เราเล่นดีแค่ไหน แต่ซาวน์ออกไปไม่ดี ก็ไม่มีประโยชน์
5. ในขณะที่เราออดิชั่นอยู่ ถึงแม้จะเป็นเวลาเพียงครึ่งชั่วโมง แต่ให้เว้นช่องว่างระหว่างเพลง ในการพูดคุย ในการแนะนำโปรโมชั่น ให้กับลูกค้า อาจส่งมุขกันระหว่างสมาชิก แต่ให้คิดว่า เราคือนักดนตรีที่นั่นจริงๆ และพยายามหลีกเลี่ยงการพูดว่าเรากำลังออดิชั่นอยู่ ให้ทำเหมือนกับเราคือนักดนตรีประจำไปเลย ทำให้ดีที่สุดในเวลาครึ่งชั่วโมงของเรา และเนียนที่สุด ทั้งเวลาขึ้นเวที จนถึงลงจากเวที ให้ลูกค้าที่เพิ่งเข้ามาคิดว่าเราคือนักดนตรีอาชีพที่อยู่ประจำร้านนั้นแล้วให้ได้
6. ไม่จำเป็นต้องพูดคุยทุกครั้งที่จบเพลง จัดระยะให้ดีๆ อย่างสมมุติว่าเพลงที่เราจะเล่นต่อกัน ก็เอาเพลงที่สามารถไหลกันไปได้เลย คือ อยู่ในคีย์เดียวกัน อยู่ในโทนเดียวกัน
7. ในกรณีที่มีลูกค้าขอเพลงขึ้นมา หากเล่นได้ อาจเล่นแถมไป แล้วก็อย่าลืมที่จะพรีเซนต์ให้เจ้าของร้านรับรู้ เช่นว่า พอมีเด็กมาส่งกระดาษขอเพลงให้ พอเรารับมา ก็บอกเลย ว่า "มีคนแนะนำเพลงขึ้นมานะครับยังไงเดี๋ยวจัดเพลงนี้ส่งท้ายเบรคนี้ให้เลยละกัน อยู่ในช่วงสุดท้ายของพวกเรา วง ..... แล้ว สำหรับที่ร้าน....นี้ก็มีดนตรีสดหลากหลายวงสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมานะครับ ทุกค่ำคืนเลย
แล้วพบกับพวกเราใหม่ในโอกาสหน้า ขอบคุณครับ" หรืออะไรก็ว่ากันไป แต่แนะนำว่าให้เล่นเป็นเพลงปิดเบรคของเราไปเลย แต่หากเล่นไม่ได้ ก็อาจออกตัวว่าขออนุญาติจัดเพลงนี้ให้แทนแล้วเลือกเพลงที่ใกล้เคียงกันเอา
8. เมื่อลงจากเวทีแล้ว ถึงเวลาคุยกับเจ้าของร้าน หากเค้าถามว่าเล่นไหนบ้าง ก็ให้ตอบไปตามความเป็นจริง แต่ในกรณีที่เรายังไม่มีที่เล่น แต่เคยผ่านการประกวดอะไรมา ก็บอกเค้าไป แต่อย่าพูดยืดเยื้อ ให้สั้นกระฉับและมั่นใจเข้าไว้ ส่วนเรื่องเรทราคาค่าตัว ให้เราศึกษาไปให้ดีก่อน ว่าร้านนั้นเค้าเคยให้อยู่เท่าไหร่ บางทีแต่ละโซนแต่ละพื้นที่ ไม่เหมือนกัน แต่ถ้าใน กรุงเทพ เท่าที่พี่ดูแลอยู่ อัตราเฉลี่ย จะอยู่ 500 ต่อคน ต่อ ชั่วโมง(เวลานี่แล้วแต่ตกลงด้วย อาจต้องเป็น ชั่วโมง 15 หรือ ชั่วโมงครึ่ง ก็แล้วแต่รอบที่ร้านจัดสรรไว้)
พยายามเรียกเรทมาตรฐานไว้ แต่ถ้าเค้าต่อราคา แล้วเราอยากได้ร้านนั้นจริงๆ บวกกับเรายังไม่มีประสบการณ์ก็เอาเท่าที่เราจะรับราคาได้ แต่อย่าให้ต่ำมาก เพราะมันจะเป็นการตัดราคากันเองระหว่างนักดนตรี และยังเป็นการเริ่มต้นที่ไม่ดีเท่าไหร่ จะยากต่อการหางานต่อๆไป ถ้าเราคิดว่าเราเล่นดี ซ้อมมาดีแล้ว ไม่ต้องห่วงเลย ว่าเราจะไม่มีงาน
9. เรื่องเวลาเล่น แต่ละร้านจะแบ่งเวลาไม่เหมือนกัน บางร้านเค้าอาจจะมีแค่วันละรอบเดียว บางร้านมี 2 บางร้านมี 3 ถ้าให้พี่แนะนำ พี่อยากให้เราคิดไว้ก่อน ว่าต่อๆไปเราจะรับงาน วันละกี่รอบ ถ้าเราคิดว่าเราอยากมีทุกวัน วันละที่เดียว ก็ไม่ต้องห่วงมาก แค่จัดสรรวันให้ลงตัว แต่ถ้าเราคิดว่าเราจะรับงาน วันละหลายรอบ ต้องแบ่งเวลาดีๆ อย่างตัวพี่ อัดงานเต็มที่วันละ 4 รอบ แต่ว่าเป็นงานโฟล์คเดี่ยว คือเล่นคนเดียว+ร้องเอง งานก็เลยเวลาค่อนข้างกว้าง
.
รอบแรก 1 ทุ่มครึ่ง - 3 ทุ่ม
รอบสอง 3 ทุ่มครึ่ง - 5 ทุ่ม
รอบสาม 5 ทุ่มครึ่ง - ตี 1
รอบสี่ ตี 1 ครึ่ง - ตี 3
ก็ดูจัดสรรเวลาให้ดีๆ แล้วก็คิดเผื่อในอนาคตด้วย เพราะไม่งั้นเราจะเลื่อนเวลาลำบากแล้วก็วุ่นวายมาก บางร้านก็จัดเวลาไว้กั๊กๆๆ แบบว่า จัด ขึ้นเวลา 4 ทุ่ม เล่นถึงเที่ยงคืน แต่มีพักเบรคกลาง หรืออะไรก็ว่ากันไป ก็ให้ดูและต่อรองดีๆหน่อย ไม่งั้นต่อไป เราจะวิ่งงานอื่นลำบาก
10. คุยให้เคลียร์ ว่าเราจะได้ลงวันไหนเวลาไหน หรือหากเจ้าของร้านบอกตรงๆเลยว่าไม่ผ่าน ก็เก็บอาการ แล้วอาจถามไปว่า "พี่อยากได้ประมาณไหนอ่ะครับ เผื่อผมแนะนำพี่ๆ ที่รู้จักกันมา จะได้กระจายข่าวให้" ทำเป็นญาติดีด้วยไปเลย เผื่อเราจะได้รู้สิ่งที่เค้าอยากได้ และเค้าอาจเรียกเราไปออใหม่ในโอกาสอื่นๆ หรือเรียกเราแทนเวลามีงาน
ให้จำไว้อย่างนึงว่าหากเค้าบอกมาเลยว่าไม่ได้ อย่าไปอ้อนวอน หรือทำเหมือนกับว่าเราเสียใจมาก เก็บอาการไว้ คิดซะว่า ทุกคนเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มา ถ้าไม่ได้ก็ต้องเดินออกจากร้านไปอย่างสมศักดิ์ศรีเรา เพราะเราทำดีที่สุดแล้ว งานดนตรีเนี่ยไม่เหมือนงานอย่างอื่น ขึ้นอยู่กับความชอบล้วนๆเลย พอถึงเวลาเข้าจริงๆ หากเราฝีมืออยู่ในระดับมาตรฐานแล้ว แต่ละคน แต่ละวง จะฝีมือหลุดกันไม่เยอะ ที่จะมาตัดกันจริงๆ คือสไตล์และการนำเสนอ
เพราะฉะนั้น อย่ายอมให้เค้ากดราคาเรา เพราะถ้าเรามั่นใจซะอย่าง ต้องมีร้านที่พร้อมจะจ้างเราอยู่แล้ว เราอาจได้ร้านใหญ่กว่านั้น ร้านสวยกว่านั้นอีก ไม่ต้องไปซีเรียสกับมันมาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น